วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ประวัติวันแม่แห่งชาติ
วันแม่แห่งชาติ (Mother’s Day) ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย นับว่าเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือแม่ของแผ่นดิน และยังถือว่าวันแม่แห่งชาตินี้เป็นวันหยุดราชการอีกด้วย
ประวัติวันแม่แห่งชาติ
แต่เดิมนั้น วันที่ 12 สิงหาคม มิได้เป็น วันแม่แห่งชาติ อย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ได้มีการกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายนของทุกๆ ปีเป็น วันแม่แห่งชาติโดยเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้ประกาศรับรองเอาไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่เป็นส่วนงานของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง จึงได้มอบหมายให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้จัดงานวันแม่มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2493 เป็นต้นมา อีกทั้งการจัดงานก็เป็นได้ด้วยความสำเร็จ เนื่องด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างออกไปได้ จึงทำให้การจัดงานไม่เพียงแต่มีการจัดพิธีทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังจัดให้มีการประกวดแม่ของชาติ การประกวดคำขวัญวันแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่แม่ และเป็นการเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้มีมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า วันแม่ของชาติ
ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวันแม่ใหม่ โดยให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ ซึ่งก็คือวันที่ 12 สิงหาคม เป็น วันแม่แห่งชาติ โดยได้เริ่มประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา จากหนังสือของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อแม่หลวงของปวงชน พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2520 มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพระเกียรติไว้ว่า …
“แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เพราะแม่ทราบดีว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา
แม่ที่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ตามระบอบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด
หญิงไทยทุกคน ย่อมจะมีคุณลักษณะต่างๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่าทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของบ้านเมืองและของประชาชนชาวไทยทั้งมวล”
อย่างไรก็ตาม การที่ทางราชการได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็น วันแม่แห่งชาติ ย่อมก่อให้เกิดวันอันเป็นที่ระลึกที่สำคัญยิ่งของไทยเราวันหนึ่งและกำหนดให้ถือว่า ดอกมะลิ สีขาวบริสุทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่ตัวเรา ดังคำประพันธ์บทดอกสร้อย ชื่อ แม่จ๋า ของ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ที่ว่า …
ดอกเอ๋ยดอกมะลิ
ถึงยามผลิกลิ่นพราวสกาวต้น
สดสะอาดปราศสีราคีระคน
เหมือนกมลสดใสหมดระคาย
กลิ่นมะลิหอมกระไรไม่รู้สร่าง
เปรียบได้อย่างรักแท้ไม่แปรหาย
อันรักแท้แลหัวใจได้บรรยาย
ขอเชิญทาย ณ ที่ไหนจากใครเอย
ความสำคัญของวันแม่
วันแม่แห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ทำให้เราต้องหวนกลับมาระลึกถึงพระคุณของ แม่ ผู้ให้กำเนิด แม่ผู้เลี้ยงดู รวมถึงแม่ของแผ่นดิน เพราะแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดในชีวิต คือ บุคลลผู้ให้ชีวิต ผู้คอยคุ้มครอง ผู้มอบความอบอุ่น แม่ เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่คอยปกป้องลูกๆ ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนคอยผลักดันให้ลูกเกิดความสำเร็จในทุกๆ ด้าน
ในประเทศไทย ทางราชการจะมีการจัดงานวันแม่อย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะแม่ของแผ่นดิน พร้อมกันนั้นก็ยังมีการจัดงานประกาศเกียรติคุณเพื่อมอบรางวัล แม่ดีเด่น ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก รวมถึงแม่คนอื่นๆ ในแต่ละปีอีกด้วย
ดอกมะลิ
เป็นที่รู้กันว่า “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ เนื่องจากดอกมะลิถือเป็นดอกไม้มงคลของไทย ดั้งเดิมคนไทยนิยมนำดอกมะลิไปบูชาพระในวันพระ และวันสำคัญทางศาสนา เพราะมีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมยาวนานออกดอกได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการนำไปผลิตเป็นกลิ่นต่างๆ ที่มีฤทธิ์เป็นยาหอมอย่างดีของไทยเรา
ดอกมะลิเปรียบถึงความรักอันบริสุทธิ์ ที่แม่มีต่อลูก และมีอย่างยาวนานตลอดไป เสมือนสีและกลิ่นของดอกมะลิที่ขาวตลอดเวลาและหอมอบอวนตลอดทั้งวันทั้งคืน ในประเพณีไทยการไหว้มารดาจึงนิยมใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้หลัก และในบางแห่งได้มีการนำดอกมะลิทำเป็นเข็มกลัด ติดที่ปกเสื้อหรืออกเสื้อ เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ
กิจกรรมในวันแม่
- นำพวงมาลัย ไปกราบแม่ ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
- ทำบุญตักบาตร และทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
- ร่วมงาน/จัดกิจกรรมต่างๆ จัดนิทรรศการ การประกวด เพื่อรำลึกถึงพระคุณแม่
- ประดับไฟตามบ้านเรือน ประดับธงชาติ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
- ร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพร ที่สถานที่สำคัญของส่วนราชการในคืนวันที่ 12 สิงหาคม
พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ประสูติเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2499 นับแต่นั้นมาพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายที่สำคัญ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังทุกพื้นที่ของประเทศไทย
โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่ได้ขยายเป็นวงกว้างไปยังทุกพื้นที่ในประเทศไทย คือ “โครงการศูนย์ศิลปาชีพในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับคนไทย พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้คงอยู่กับสืบไป นอกจากนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายิกาสภากาชาดไทย” ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะกุศลที่ก่อตั้งขึ้น โดยมีภารกิจในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา
อัพเดตเมื่อ 10 สิงหาคม 2561
|